Categories
News

ดอกบัวอบแห้ง: ดอกบัวมีกี่ชนิด? ทำความรู้จักสายพันธุ์บัวที่มีอยู่ในประเทศไทยกัน

ดอกบัวอบแห้ง: ดอกบัวมีกี่ชนิด? ทำความรู้จักสายพันธุ์บัวที่มีอยู่ในประเทศไทยกัน ดอกบัว ดอกไม้ไหว้พระที่เราคุ้นเคยกันดีเพราะอยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน แต่จริงๆ แล้วชนิดของบัวนั้นไม่ได้มีแค่ที่เรานำมาไหว้พระเท่านั้น เพราะยังมีพันธุ์อื่นๆ ที่พบได้ในไทยอีกด้วย วันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับสายพันธุ์บัวชนิดอื่นๆ กันว่าดอกบัวมีกี่ชนิดและมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

ดอกบัวมีกี่ชนิด รู้จักสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีในไทย

บัว เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง และจัดว่าเป็นราชินีแห่งไม้น้ำ ก้านดอกจะยาวมีหนามและชูดอกเหนือน้ำ กลีบดอกเรียงซ้อนหลายชั้นและมีหลากหลายสี เป็นดอกไม้ที่มีความผูกพันกับคนไทยมาอย่างช้านาน เพราะในทางพุทธศาสนาก็เปรียบดอกบัวเหมือนความบริสุทธิ์และความศรัทธา จึงทำให้ชาวพุทธนิยมนำดอกบัวมาถวายพระ รวมถึงใช้ในการไหว้บูชาพระด้วย ทำให้หลายๆ บ้านนิยมปลูกเลี้ยงบัว เพราะสามารถปลูกได้ทั้งในอ่างและในสระ ทั้งยังเป็นดอกไม้มงคลปลูกในบ้านได้อีกด้วย แล้วดอกบัวมีกี่ชนิด ? ซึ่งชนิดของบัวที่มีในไทยนั้น สามารถแบ่งประเภทได้ ดังนี้

สกุลเนลุมโบ (Nelumbo) หรือ ปทุมชาติ
สกุลนิมเฟียร์ (Nymphaea) หรือ อุบลชาติ
สกุลวิกตอเรีย (Victoria) หรือ บัววิกตอเรีย

ซึ่งในแต่ละสกุลนั้น สามารถจำแนกได้หลายชนิด และดอกบัวมีกี่ชนิดที่พบได้ในไทย แบ่งได้เป็น 6 ชนิด ดังนี้

1. บัวหลวง
จัดว่าอยู่ในสกุลปทุมชาติ มีดอกและใบชูขึ้นเหนือน้ำ ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียว และค่อนข้างกลม ดอกจะมีทั้งแบบดอกซ้อนและไม่ซ้อน และพบได้ 4 สี ได้แก่ สีขาว สีแดง สีชมพู และสีเหลือง ก้านจะมีลักษณะแข็ง มีลักษณะเด่นชัดคือ ผิวหน้าของใบจะเหมือนกับมีขี้ผึ้งเคลือบอยู่ทำให้น้ำไม่เกาะ เป็นบัวที่เรานิยมนำมาไหว้พระ หรือจัดแจกันบูชาพระ และนำรากของมันมาทำเป็นอาหาร

การปลูก
พื้นที่ปลูกควรเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ใกล้แหล่งน้ำ ควรใช้ดินร่วนหรือดินเหนียว ซึ่งการปลูกจะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ

1. ปลูกในแปลงดินแห้ง
จะใช้การขุดหลุมให้ลึกลงไปประมาณ 15-20 ซม. แล้วฝังเหง้าบัวลงไป โดยให้เหลือส่วนที่เป็นตาบัวอยู่เหนือผิวดินประมาณ 1-2 ข้อ จากนั้นจึงทำการปล่อยน้ำเข้าแปลง

2. ปลูกในแปลงดินโคลน
วิธีนี้นิยมเพราะปลูกง่ายและสะดวกกว่าวิธีแรก ทำได้โดยการปล่อยน้ำเข้าแปลงเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ดินเป็นโคลนตม จากนั้นนำเหง้าบัวลงแปลง โดยให้เหลือส่วนเหนือผิวดินประมาณ 1-2 ข้อ และทำการปล่อยน้ำให้ท่วมแปลง

Tips : บัวหลวงคือบัวที่เรานิยมนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด เพราะจะนำมาไหว้พระ จึงทำให้ดอกบัวกับพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาโดยตลอด และเราก็คงจะเคยได้ยินถึงการเปรียบเทียบดอกบัวกับมนุษย์ที่ว่า บัวมี 4 เหล่า คือ

บัวก้นบึ้ง บัวใต้น้ำ บัวปริ่มน้ำ และบัวพ้นน้ำ เปรียบได้ง่ายๆ คือ

– บัวก้นบึ้ง คือ คนที่ไม่รู้ผิดหรือชอบ ไม่เกรงกลัวในบาปกรรม

– บัวใต้น้ำ คือ คนที่ยังรู้ผิดชอบชั่วดีบ้าง มีศีลบ้าง

– บัวปริ่มน้ำ คือ คนที่มีศีล รู้จักการรักษาศีล 5 ให้คงไว้ ทำได้ครบบ้าง ไม่ครบบ้าง แต่พยายามหมั่นฝึกฝน

– บัวพ้นน้ำ คือ ผู้รักษาศีล 5 ได้ครบถ้วน และไม่ละเลยการทำความดี ถือว่าเป็นผู้ที่เจริญแล้ว

2. บัวฝรั่ง
บัวฝรั่งจัดอยู่ในสกุลปทุมชาติ มีลักษณะคล้ายบัวหลวง สามารถเจริญเติบโตได้โดยสร้างลำต้นหรือเหง้า ใบมีทั้งขอบเรียบและขอบใบจักร ใบกลมสวย รูปทรงของดอกสวยงาม มีหลายสีทั้ง สีขาว สีแดง สีชมพู สีเหลือง ตัวดอกจะลอยแตะผิวน้ำ หรือชูเหนือน้ำเล็กน้อย บัวฝรั่งจะนิยมใช้เป็นไม้ประดับมากกว่าเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น

3. บัวผัน บัวเผื่อน
เป็นบัวที่อยู่ในสกุลอุบลชาติ มักขึ้นตามทุ่งนา หนองน้ำ ดอกมีกลิ่นหอม และบานตอนเช้า หุบตอนเย็น ใบเป็นรูปไข่จนถึงกลม ตัวดอกมีหลายกลีบและมีหลายสี เป็นไม้ประดับดอกสีม่วงชนิดหนึ่ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ส่วนหัวนิยมนำมาทำเป็นยา การขยายพันธุ์จะใช้วีธีการเพาะเมล็ด

การปลูก
บัวทั้งสองชนิดนี้ สามารถปลูกในกระถางได้ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

เตรียมภาชนะปลูก เช่น กระถางปากกว้าง หรือกระถางทรงอ่าง ใส่ปุ๋ยรองลงไป
ใส่ดินลงไปเกือบเต็มภาชนะ และใช้น้ำลูบหน้าดินให้เป็นเนื้อเดียวกัน
หากเป็นบัวผัน บัวเผื่อน ให้ปลูกกลางภาชนะ ส่วนบัวฝรั่งจะปลูกริมภาชนะ
นำส่วนที่เป็นหัวบัวหรือรากปลูกลงในดิน แล้วกดดินรอบๆ ให้แน่น
วางบัวในอ่างให้ใบพ้นน้ำ 7-10 วัน จากนั้นบัวจะเริ่มแตกใบใหม่ให้เห็น

4. บัวสาย
บัวสาย จัดอยู่ในสกุลอุบลชาติ เป็นบัวที่อยู่ตามหนองบึง สามารถขึ้นอยู่ในระดับน้ำลึกๆ ได้ เป็นบัวก้านอ่อนที่มีก้านใบและดอกยาว ใบมีลักษณะมน ขอบใบจักร ก้านใบจะไม่สามารถส่งใบให้ชูพ้นน้ำได้สูง ส่วนใบมักจะลอยบนผิวน้ำ ดอกมีหลายสี คือ สีบานเย็น สีขาว และสีชมพู มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกจะบานกลางคืน และหุบตอนเช้า ส่วนหัวนิยมเอามาทำเป็นยา และนิยมเอาก้านมาทำอาหาร เช่น แกงสายบัว ส่วนดอกก็ใช้เป็นไม้ประดับ

การปลูก
บัวสายสามารถปลูกในกระถางได้ ซึ่งนิยมปลูกกัน 2 แบบ คือ

1. ปลูกโดยใช้กระถาง 2 ใบ โดยนำกระถางวางซ้อนกันโดยใช้ใบใหญ่ 1 ใบ และใบเล็ก 1 ใบ จากนั้นใส่ดินผสมหรือดินเหนียวลงไป ตามด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และใส่บัว ก่อนจะค่อยๆ ใส่น้ำลงไปในกระถางในระดับที่เหมาะสม การปลูกวิธีนี้สามารถเปลี่ยนกระถางบัว และเคลื่อนย้ายได้สะดวก
2. ปลูกโดยใช้กระถางใบเดียว โดยนำดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ คือใช้ดินผสมหรือดินเหนียว แล้วใส่ดินปลูกลงในกระถางประมาณครึ่งนึงของกระถาง จากนั้นนำบัวลงไปปลูก หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ใส่น้ำลงไปให้อยู่ในระดับเดียวกับขอบกระถาง

Tips : แม้ว่าบัวจะเป็นพืชน้ำ แต่ก็ต้องการแสงแดดจัดอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงอ่างน้ำที่จะปลูกบัวควรมีความลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อให้บัวเจริญเติบโตได้เต็มที่ และน้ำต้องเป็นน้ำที่สะอาด มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.5-8.0 อุณหภูมิควรไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส และควรใส่ปุ๋ยสำหรับบัวโดยเฉพาะ หรือปุ๋ยสูตร 16-16-16 ก็ได้ ประมาณ 1-2 อาทิตย์ครั้ง บัวสามารถปลูกลงอ่างหรือกระถางได้ ไม่จำเป็นต้องลงบ่อหรือสระเสมอไป

5. บัวจงกลนี
ดอกบัวมีกี่ชนิด ? นี่คืออีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในสกุลอุบลชาติ เป็นบัวเชื้อชาติและสัญชาติไทยที่มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น พบใหม่ในธรรมชาติคาดว่าเกิดจากการแปลงพันธุ์ ใบจะลอยอยู่แตะผิวน้ำ ขอบใบหยัก มีรูปร่างรีคล้ายหัวใจ หน้าใบเป็นสีเขียว ส่วนหลังใบเป็นสีม่วงแดง ดอกจะลอยแตะผิวน้ำเล็กน้อย มีสีขาวอมชมพู กลีบเรียงซ้อนกันแน่น เป็นบัวที่มีกลีบดอกมากที่สุดในโลก และมีลักษณะพิเศษ คือ บานแล้วไม่หุบ เป็นบัวที่ชอบอยู่กลางแจ้งและที่น้ำลึก นิยมนำมาเป็นไม้ประดับ ส่วนหัวนำไปทำเป็นยา

การปลูก
สามารถปลูกได้ทั้งในสระและในบ่อ โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในวัสดุปลูกที่มีความลึกไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร และมีขั้นตอนในการปลูก ดังนี้

ใส่วัสดุปลูกหนาประมาณ 2/3 ส่วนของภาชนะปลูก และอัดวัสดุปลูกให้แน่น
กลบหน้าด้วยดินเหนียว อัดให้แน่น
นำต้นหรือหน่อลงปลูก
ใส่น้ำสะอาดลงไปเป็นอันเรียบร้อย

6. บัววิกตอเรีย หรือ บัวกระด้ง
เป็นบัวที่อยู่ในสกุลวิกตอเรีย เป็นบัวขนาดใหญ่ที่สุด ขอบใบจะยกตัวขึ้นคล้ายกระด้ง ลอยบนผิวน้ำ ดอกมีกลิ่นหอมแรง มีสีขาวและสีชมพู จะบานตอนกลางคืน และหุบในตอนเช้า เป็นบัวที่ต้องใช้พื้นที่ปลูกมาก เพราะเป็นใบเดี่ยวมีขนาดใหญ่มากประมาณ 6 ฟุต ก้านใบและก้านนอกนิยมนำมาทำอาหาร ส่วนต้นและดอกจะเป็นไม้ประดับ

การปลูก
การขยายพันธุ์บัวกระด้งจะใช้วิธีเพาะเมล็ดเท่านั้น จะไม่ใช้วิธีการแยกเหง้าหรือหน่อเหมือนบัวพันธุ์อื่นๆ เพราะบัวกระด้งไม่มีการแตกหัวหรือแยกเหง้า และนิยมปลูกลงสระ เพราะง่ายที่สุด และประหยัด สามารถทำได้ ดังนี้

– นำเมล็ดที่แก่จัดแล้วมาหว่านลงบ่อ ให้ระยะห่างกันประมาณ 5-10 เมตร ต่อ 3 เมล็ด
– การปลูกบัวชนิดนี้ สภาพดินและน้ำในบ่อสำคัญที่สุด โดยดินต้องไม่เป็นกรด และน้ำต้องมีค่าออกซิเจนละลายในน้ำไม่ควรต่ำกว่า 4 มิลลิกรัม/ลิตร